header
Your search results

วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ครุฑแดง แบบง่ายๆ ครบๆ วิธีดูโฉนดที่ดิน ขั้นเทพ!!

by madamhome on 26/11/2020
วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ครุฑแดง แบบง่ายๆ ครบๆ วิธีดูโฉนดที่ดิน ขั้นเทพ!!
Comments:0

โฉนดที่ดินจะมีข้อมูลรายละเอียดผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ระบุไว้ชัดเจน แสดงที่มาที่ไปของผู้ถือครองจากรุ่นสู่รุ่น มีภาพลักษณะที่ดิน เงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆระบุไว้ครบถ้วน ดังนั้นหากเราอ่านโฉนดที่ดินเป็น จะมีประโยชน์อย่างมากในการซื้อขาย ทั้งการวิเคราะห์ทำเล และการตั้งราคาซื้อขายให้เหมาะสม

ปัจจุบันการซื้อการขายจะทำเพียงเข้าดูพื้นที่จริงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องชี้วัดให้ได้ว่าขอบเขตที่ดินที่เราจะซื้อขายอยู่ตรงไหน ปัญหาที่พบบ่อยในวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ที่ทำให้นักลงทุน ผู้ซื้อผู้ขายหลายคนตกม้าตายกันมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการดูโฉนดที่ดิน ดูรายละเอียดในเอกสารโฉนดที่ดินไม่รอบคอบ หรือดูแล้วไม่เข้าใจในความหมาย ไม่เข้าใจในภาระผูกพันในที่ดิน สร้างความเสียหายกันตามมา อาทิเช่น ซื้อที่ดินผิดแปลง , จ่ายเงินให้เจ้าของผิดคน หรือแม้กระทั่งซื้อที่ดินตาบอดที่ไม่มีทางเข้าออก ก็มีให้เห็นกันเป็นประจำ

วันนี้มาดามโฮม ได้สรุปวิธีการอ่านโฉนดที่ดิน โฉนดครุฑแดงมาให้อย่างละเอียดยิบ ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงในแต่ละส่วนของโฉนด แม้ในโฉนดจะเป็นภาษาทางการที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่รับรองได้ว่าหากได้อ่านสรุปนี้ของมาดามโฮม ผู้ซื้อผู้ขายทุกท่านจะเข้าใจได้ไม่ยาก อ่านโฉนดกันเก่งอย่างแน่นอน เรียกได้ว่า แปลภาษาไทยให้เป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่ายๆอีกทีค่ะ ไปลุยกันเลย

บทความเกี่ยวข้อง
>> ที่ดินมีกี่ประเภท อะไรบ้าง สรุปง่ายๆ โฉนดครุฑแดง ครุฑเขียว ครุฑดำ ต่างกันยังไง
>> “โฉนดครุฑแดง” คืออะไร จะซื้อขายที่ดิน ต้องรู้!! รวมทุกข้อมูล ครบ-จบ-ในที่เดียว

 

การอ่านพื้นที่ วัดหน้ากว้างที่ดินในโฉนด

การวัดขนาดพื้นที่ที่ดินจากในโฉนด

การคำนวณหาระยะที่ดินจริงจากรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน เราสามารถวัดจากโฉนดที่ดินได้เลย โดยเอาขนาดที่วัดได้จากโฉนด คูณกับมาตราส่วนที่ระบุไว้ในโฉนด จะเท่ากับขนาดที่ดินจริง นั้นเอง

ตัวอย่างเช่น หากมาตราส่วนในโฉนดที่ดิน เป็น “มาตราส่วน 1 ต่อ 500” และเราเอาไม้บรรทัดวัดด้านหนึ่ง(หน้าบ้าน)ของที่ดิน จากหมุดถึงหมุด วัดได้ 12 มิลลิเมตร

ดังนั้น ขนาดที่ดินหน้าบ้านที่เราอยากรู้ จะเท่ากับ 12 มิลลิเมตร x 500 = 6,000 มิลลิเมตร หรือเท่ากับ 6 เมตร นั้นเอง

สูตรเทียบมาตราส่วนในโฉนดที่ดิน แบบง่ายๆ จะได้ดังนี้

  • มาตราส่วน 1 ต่อ 2000 ในโฉนด
    คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 2 เมตร
  • มาตราส่วน 1 ต่อ 1000 ในโฉนด
    คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 1 เมตร
  • มาตราส่วน 1 ต่อ 500 ในโฉนด
    คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 0.5 เมตร หรือ ครึ่งเมตร

 

วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหน้า

วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหลัง

 

วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหน้า

1. ตำแหน่งที่ดิน (มุมซ้ายบน)

1.1 ระวาง

คือ หมายเลขของแผนที่ใหญ่ ที่โฉนดแปลงนี้ตั้งอยู่ เลขที่ระบุไว้จะเปรียบเหมือนสารบัญแสดงให้รู้ว่าโฉนดแปลงนี้ตั้งอยู่ในแผนที่ใหญ่ฉบับไหน ในระแผนที่ระวางจะเป็นแผนที่ลายเส้นที่แบ่งขอบเขตของโฉนดแต่ละแปลงในบริเวณนั้นใกล้เคียงไว้อย่างชัดเจน ระบุทางสาธารณะ ทางเข้าออกไว้ครบถ้วน ดังนั้นในการซื้อขายหรือจำนอง จำเป็นต้องมีการตรวจสอบระวางทุกครั้ง เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงของที่ดินรอบข้างและสภาพทางในปัจจุบัน

1.2 เลขที่ดิน

คือ ตำแหน่งที่อยู่ของที่ดินแปลงนี้ในแผนที่ระวาง เลขที่ดินในระวางจะไม่ซ้ำ ไล่ลำดับตัวเลขไปเรื่อยๆ ในเชิงการใช้งาน เลขที่ดินจะเปรียบเหมือนที่อยู่ ช่วยให้การค้นหาตำแหน่งทำได้ง่ายและรวดเร็ว

1.3 หน้าสำรวจ

คือ ตัวเลขแสดงลำดับการสำรวจในการจัดทำโฉนด ของแต่ละตำบล โดยเริ่มนับ 1 ไปเรื่อยๆ เมื่อขึ้นตำบลใหม่ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่ เลขสำรวจนี้จะนิยมใช้ในการสืบค้นของเจ้าพนักงานที่ดิน

1.4 ตำบล

คือ ชื่อของตำบลที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่

 

2. โฉนดที่ดิน (มุมขวาบน)

2.1 เลขที่

คือ เลขที่ของโฉนดผืนนี้ มักใช้ในการสืบต้นข้อมูล ค้นหา และดำเนินการทำนิติกรรมต่างๆกับสำนักงานที่ดิน เลขโฉนดนี้จะเริ่มนับ 1 ในแต่ละอำเภอ หากขึ้นอำเภอใหม่ ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่

2.2 เล่ม..หน้า

คือ เลขแฟ้มของสำนักงานที่ดิน ที่รวบรวมโฉนดของเราไว้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินง่ายในการสืบค้นข้อมูล ด้านหลังจะมีตัวเลขระบุไว้ในโฉนดชัดเจนว่าอยู่หน้าที่เท่าไหร่ของแฟ้มนั้นๆ

2.3 อำเภอ

คือ ชื่อของอำเภอที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่

2.4 จังหวัด

คือ ชื่อของจังหวัดที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่

 

3.โฉนดที่ดิน (ตรงกลางบน)

3.1 ให้แก่…สัญชาติ…อยู่บ้านเลขที…ถนน…ตำบล…อำเภอ…จังหวัด…ซอย

ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของโฉนดคนแรกที่ทางราชการได้ออกโฉนดให้ เน้นย้ำชื่อตรงนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน (ชื่อเจ้าของคนปัจจุบันจะอยู่ด้านหลังโฉนดตรงสารบัญจดทะเบียน)

3.2 ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ…ไร่…งาน…ตารางวา

ส่วนนี้จะบอกขนาดของที่ดินแปลงนี้ แต่ต้องระวังว่าหากที่ดินแปลงนี้มีการแบ่งพื้นที่แยกโฉนดออกไป ตัวเลขตรงนี้จะไม่ได้ถูกแก้ไข ให้ยึดตามขนาดพื้นที่ล่าสุดด้านหลังโฉนดตรงส่วนสารบัญจดทะเบียนเป็นหลัก

 

4. รูปแผนที่ (ตรงกลาง)

4.1 ส่วนรูปภาพที่ดิน

จะเป็นภาพลายเส้นแสดงรูปของที่ดิน ภาพที่แสดงในแผนที่จะเป็นภาพขนาดย่อตรงตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในโฉนด ในรูปภาพจะมีตัวเลขและตัวหนังสือหลักหมุดเขียนกำกับไว้แต่ละมุม และตรงกลางจะมีตัวเลขแสดงเลขที่ดินของที่ดินข้างเคียง เพื่อให้ทราบว่า ที่ดินด้านข้างเป็นที่ดินแปลงไหน

4.2 มาตราส่วน

เป็นตัวเลขแสดงอัตราส่วนการย่อขนาดของที่ดินของรูปภาพ ดังนั้น หากต้องการทราบขนาดด้านกว้าง ด้านลึกของที่ดินสามารถใช้ไม้บรรทัดวัดความยาวด้านแต่ละด้านและคูณด้วยอัตราส่วนที่ระบุไว้ได้เลย

* หมายเหตุ*

  • ในการอ่านโฉนดในที่นี้ เราจะใช้มาตราส่วนทางด้านขวาเท่านั้น ในการวัดขนาดพื้นพี่ในโฉนด (ในตัวอย่างจะเป็น มาตราส่วน 1:500)
  • ส่วนมาตราส่วนทางด้านซ้าย (มาตราส่วนในระวาง) จะไม่ได้ใช้ในการอ่านโฉนดนี้

4.3 ตำแหน่งทิศ

ในโฉนดจะมีลูกศรชี้ขึ้นและระบุตัวอักษร น แสดงทิศเหนือ เพื่อให้ทราบทิศทางที่ตั้งของที่ดิน

4.4 วันที่ออก

เป็นวันที่ออกโฉนดที่ดิน จะมีระบุวัน เดือน ปีพุทธศักราชไว้อย่างชัดเจน และมีลายเซ็นเจ้าพนักงานที่ดิน ลงชื่อและประทับตราราชการไว้เป็นการรับรอง

 

วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหลัง

5. สารบัญจดทะเบียน

เป็นส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับ สารบัญจดทะเบียน หรือเรื่องราวความเป็นมา การเปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์ ภาระผูกพันในที่ดิน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และในบรรทัดสุดท้ายจะระบุเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน โดยด้านหลังโฉนดอาจมีหลายหน้าได้ แต่ละหน้าจะมีเลขที่หน้าระบุไว้ และจะต้องมีตราประทับรับรองพร้อมลายเซ็นของเจ้าหน้าที่พนักงานรับรองไว้ทุกหน้า สารบัญจดทะเบียนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนๆในตาราง ดังนี้

5.1 จดทะเบียน วัน เดือน ปี

เป็นวันที่ที่ทำนิติกรรมนั้นๆ ณ สำนักงานที่ดิน

5.2 ประเภทการจดทะเบียน

ระบุประเภทนิติกรรมที่มาทำ ณ สำนักงานที่ดินในวันนั้นๆ อาทิเช่น ซื้อ, ขาย, ปลอดจำนอง, จำนอง, การให้, โอนมรดก, ภาระจำยอม เป็นต้น

5.3 ผู้ให้สัญญา

คือ ผู้ที่มาทำการจดให้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมนั่นเอง

5.4 ผู้รับสัญญา

คือ ผู้ที่มารับสัญญาต่อ หรืออาจกล่าวได้ว่า คือเจ้าของกรรมสิทธิ์คนใหม่นั่นเอง

5.5 เนื้อที่ดินตามสัญญา

เป็นเนื้อที่ดินตามโฉนด ในการทำนิติกรรมสัญญาในวันนั้นๆ

5.6 เนื้อที่ดินคงเหลือ

เป็นพื้นที่ที่ดินในโฉนด หน่วยเป็นไร่ งาน ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ดินคงเหลือของโฉนดแปลงนี้ในปัจจุบัน ณ วันทำสัญญานั้นๆ พื้นที่โฉนดส่วนนี้อาจเหลือไม่ตรงกับพื้นที่ในโฉนดหน้าแรกได้ เนื่องจากโฉนดอาจมีการแบ่งหรือรวมกับพื้นที่โฉนดอื่น ให้ยึดตามพื้นที่ดินคงเหลือในส่วนสุดท้ายของสัญญาเป็นหลักเสมอ

5.7 ระวางเลขที่ดินโฉนดที่ดินใหม่

จะมีการระบุเลขในช่องนี้ หากมีการปรับปรุง/แก้ไข ระวาง

5.8 เจ้าพนักงานที่ดินลงลายมือชื่อ ประทับตรา

ในการทำนิติกรรมสัญญาในแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่รับเรื่องจะต้องลงชื่อและประทับตราราชการระบุไว้ทุกครั้ง กรณีมีปัญหา หรือต้องการทวนสอบประวัติของที่ดิน จะสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่รับทำเรื่องในครั้งนั้นๆได้

5.9 มีใบต่อแผ่นที่….

ในกรณีที่โฉนดที่ดิน มีการโอน/เปลี่ยนชื่อผู้ถือครอง มาหลายครั้งแล้ว หน้าสารบัญจดทะเบียน มีการจดทะเบียนหลายครั้ง อาจทำให้จดทะเบียนไม่เพียงพอให้หน้าเดี่ยว จะมีการเพิ่มหน้าจดทะเบียนไปอีก ซึ่งจะมีการระบุเลขหน้าที่ตำแหน่งนี้

 

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน ได้ที่เว็บไซต์ของกรมที่ดิน
>> https://www.dol.go.th/

 

บทความโดย : มาดามโฮม
madamhome.in.th

Share

Compare